เรื่องเล่า สามพรานฟาร์มหมู กับแนวคิด Gen-Z
“ไม่มีใครบังคับเราได้หรอก
ซึ่งนั่นหมายความว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นผลมาจากการเลือกของเราในอดีต
ในเมื่อเราเลือกเอง ก็ยอมรับมันให้ได้สิ”
คุณณัฐพร ธีรานุวัฒน์
บจก.สามพรานฟาร์ม
ภาพหมูที่วิ่งอย่างแฮปปี้อยู่กลางท้องทุ่งทำให้เรารู้สึกว่า การที่เราเป็นลัทธิเบค่อน ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเกินไปนัก ซึ่งนั่นทำให้เราไปตามหาเจ้าของหมูแสนสุขเหล่านั้น ว่ามีหลักคิด วิธีการจัดการชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างไรบ้าง
“ที่นี่ เริ่มมายังไงคะ”
“เริ่มจากฟาร์มหมูก่อน คุณปู่เป็นคนเริ่ม พอมารุ่น 2 ก็เริ่มขยายฟาร์ม โรงงานผลิตเนื้อหมูมาตรฐานส่งออก จนเพิ่งเร็วๆนี้ก็มีร้านจำหน่ายเนื้อหมู และร้านอาหารสุขภาพ ซึ่งตรงนี้ก็เริ่มเป็นรุ่นที่ 3 เข้ามาช่วยกันละ”
“พี่ทำงานที่นี่มากี่ปีแล้วคะ”
“11 ปี” พี่สาวตัวเล็กหน้าตาน่ารักน่าทะนุถนอมคนนี้ พอเอ่ยปากพูดเรื่องงานปั๊ป แววตากลับเปลี่ยนเป็นจริงจังน่านับถือ น้ำเสียงที่ใช้ก็ทุ้มนุ่มน่าฟัง ประดุจคนที่ผ่านหลากหลายสมรภูมิความคิดมาแล้ว ทั้งๆที่อายุเพิ่งจะ 37 ปีเท่านั้น
“พี่เรียนจบก็มาทำงานที่นี่เลย เห็นเป็นกันหลายครอบครัวเลยนะ หลานคนโตนี่ต้องกลับมาทำงานที่บ้านก่อน ไม่มีโอกาสได้ไปทำงานข้างนอก น่าเสียดายมากเลย
พอกลับมาทำงานก็เจอปัญหาเยอะแยะเลย รอบด้าน พอทำไปได้ 2 ปี ก็คิดว่าความรู้เรายังไม่มากพอที่จะทำให้บริษัทเติบโต ก็เลยคิดว่าน่าจะไปเรียนบริหารเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ใช่ว่าขอเงินแล้วไปง่ายๆอย่างที่คิด”
“ขอไปเรียนต่อนี่หรอคะ ยากยังไงคะ”
“ที่ขอนี่ไม่ใช่แค่พ่อแม่นะ เพราะว่าเราอยู่กันหลายครอบครัว เป็นกงสี อย่างถ้าจะไปเรียนต่อ เราต้องไปเสนอต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ครอบครัว สุดท้ายก็เลยต้องไปหาข้อมูล ว่าไปเรียนแล้วจะได้อะไร ช่วยงานอะไรที่บ้านได้บ้าง ธุรกิจจะดีขึ้นยังไง ใช้เงินเท่าไหร่ แล้วก็ต้องให้คำมั่นว่าเรียนจบจะกลับมาทำงานที่นี่ต่อ”
“โห ฟังดูเหมือนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ”
“ใช่เลย แล้วตอนไปเรียนนะ ก็เหนื่อยมาก ยาก แต่ก็แฮปปี้มาก เพราะอยู่โน่นมันสะดวกสบายไง สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดนี้ ทางโน้นก็เลยทันสมัยกว่ามาก ตอนแรกเรียนปีเดียว ตอนหลังเลยทำงานเก็บเงินลงคอร์สเรียนเอง เพื่ออยู่ต่อรอรับปริญญาเลย”
“พี่เริ่มเข้ามารับช่วงต่อยังไงคะ เริ่มทำอะไรก่อน”
“หลังจากที่เรียนจบใช่มะ กลับมาก็มาลงฝ่ายขายก่อนเลย ยังไงไม่รู้ล่ะ เอาเงินเข้าก่อน พอเราเริ่มหาเงินได้ ผู้ใหญ่ก็แฮปปี้ คราวนี้พอมีเงินแล้ว จะมีโปรเจ็คอะไรก็ค่อยๆขอ เค้าก็จะเริ่มค่อยๆปล่อยละ เอาให้แบบในธุรกิจสามารถมีเงินหมุนเวียนมากพอ เวลาลงทุนอะไรเพื่อปรับปรุงการผลิต ช่วยในการขาย ก็จะขออนุญาตง่ายขึ้น เราเองก็มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นด้วย”
“มีทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่บ้างมั้ยคะ”
“ไม่ค่อยมีเลยล่ะ เพราะครอบครัวพี่ใช้หลักแบบนี้ คือเราสลับครอบครัวกัน อย่างเช่น พี่ ทำงานกับอาเจ็ก แล้วหลานอีกคนก็ไปทำงานกับพี่ ทุกๆคนต้องทำงานกับญาติ ทำให้จะมีความเกรงใจกันอยู่ระดับหนึ่ง รวมทั้งสามารถแบ่งเรื่องงานกับเรื่องครอบครัวได้ชัดเจนกว่าด้วย”
“โห วิธีนี้สุดยอดมากเลยค่ะ พี่มีรุ่น 3 เข้ามาทำงานกี่คนแล้วคะ”
“ไม่กี่คนเอง เด็กจากแต่ละครอบครัวก็มีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่เป็นครอบครัวเดียวกัน ปรับกันจูนกันนิดหน่อยก็ลงตัวละ แค่ต้องฝึกฝนประสบการณ์อีกซักหน่อย ส่วนรุ่น 2 ก็ยังไม่ได้เกษียณกันหมด ยังคงช่วยประคองๆกันอยู่”
“อายุ มีผลต่อปัญหาการรับช่วงกิจการมั้ยคะ”
“มีเยอะเลยแหละ เราเป็นคนที่เกิดมาในคนละยุคกัน ถูกเลี้ยงดูมาแตกต่างกันนะ เทคโนโลยีอะไรก็เปลี่ยนไปมากเลย อย่างรุ่นคุณพ่อพี่นี่ก็ 60 กว่าเนอะ สมัยนั้นก็ ยุคเบบี้บูมเม่อ หลังสงคราม มือถือยังไม่มี ไลน์นี่ไม่ต้องพูดถึง จะติดต่อกันทีเขียนจดหมาย เดินกันเป็นกิโลๆ แล้วก็จะค่อนข้างเชื่อถือกับการงานที่มั่นคง เวลาทำงานที่นึงก็จะอยู่นานๆ ในขณะที่รุ่นหลังนี่ตอนนี้อายุ 20 กว่า ตั้งแต่เกิดมาก็มีมือถือแล้วก็ ขยับนิ้วนิดเดียวก็ได้ข้อมูล ได้ความรู้ยากๆละ ก็เลยกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่มองว่าเด็กรุ่นหลัง ยิ่งเด็ก ยิ่งขาดความอดทน กลัวความลำบาก โดยลืมคิดไปว่า เค้าจะมาทนความลำบากแบบผู้ใหญ่ยุคโน้นได้ยังไง เกิดมาเค้าถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้นี่ ส่วนเด็กๆก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ บางเรื่องก็คิดว่าเนียะ ลำบากสุดละ แต่คงจินตนาการไม่ออกว่าไอ้ความลำบากแบบที่ผู้ใหญ่ยุคนั้นเจอนี่ มันหน้าตาเป็นยังไง”
“ก็เลยกลายเป็นคนแก่ขี้บ่น กับเด็กไร้ความอดทนไปเลยสินะคะ”
“ใช่ๆ เดี๋ยวนี้พี่ก็ปรับตัวนะ ขนาดรุ่นพี่เองก็ยังคิดอ่ะ ว่าเด็กๆเดี๋ยวนี้ไม่อดทนเลย ตอนแรกๆรับลูกน้องก็ปวดหัวถอดใจไปอยู่นานเหมือนกัน รับลูกน้องไม่ได้ งานก็ไม่เดิน จนได้ไปอบรมที่นึงมา เค้าบอกว่าเราต้องปรับตัวนะ ปรับตัวเข้าหาเด็กบ้าง เวลารับพนักงานนี่พี่จะบอกเลย คุณจะเป็น Gen อะไรก็แล้วแต่ รู้มั้ย ว่าเค้าบอกว่ารุ่นคุณเป็นยังไง งั้นอยากทำตัวให้โดดเด่นกว่าคนอื่นมั้ย มาทำงานกับพี่ แค่อดทน คำเดียวเท่านั้นแหละ อดทน แล้วคุณจะเป็นคน Gen Z ที่โดดเด่นกว่าคนอื่นมากๆเลยล่ะ”
“แล้วระหว่างพี่กับรุ่น 2 พี่มีวิธีการปรับตัวยังไงคะ”
“ง่ายมาก คนตัดสินใจต้องรับผิดชอบ ฮ่าๆ” ต้องลองนึกภาพ มองหางตา หรี่ตาเล็กๆ ยิ้มมุมปาก
“ก็คุยด้วยเหตุผลแหละ แต่ถึงแม้มันจะเป็นกิจการของเรานะ แต่มันก็ไม่ใช่ของเราคนเดียวนิ ครอบครัวเราช่วยกันดูแล ถ้าเค้าไม่อนุมัติเรื่องที่เราเสนอ ด้วยเหตุผลใดๆก็ตามแต่ เรามีหน้าที่แค่เสนอ ลดรูรั่ว สร้างระบบให้แข็งแรง พยายามทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ หากว่าผู้ใหญ่ไม่อนุมัตินั้น เค้าก็ต้องรับผิดชอบผลการตัดสินใจของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสู้ ไม่ต้องทะเลาะ เวลาทำงานเค้าก็เหมือนหัวหน้าแหละ เหมือนเวลาทำงานข้างนอก ถ้าหัวหน้าไม่เห็นด้วย ต่อให้ความคิดดีเลิศยังไง คุณจะได้ทำมันมั้ยล่ะ มันก็เหมือนกันแหละ แค่เค้าเป็นครอบครัว คำพูดของเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น”
“แล้วถ้าผลมันออกมาเป็นอย่างที่เราคิด เช่นเราบอกว่าต้องเปลี่ยนตรงนี้ มันจะพังแล้ว แต่เค้าไม่ให้จนมันพัง เราควรทำยังไงคะ”
“เอ้า เค้ารับผิดชอบไง เราก็ถือว่าเราบอกแล้ว ทำหน้าที่ของเราแล้ว แต่ว่า ตอนที่เราเสนอ เราต้องทำแผนการเสนอให้ครบถ้วน และต้องมั่นใจว่าผู้ใหญ่เข้าใจก่อนนะ ไม่ใช่กลายเป็นการปัดความรับผิดชอบไป เช่น ควรทำอันนี้เพราะอะไร จะช่วยให้บริษัทได้กำไรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ หรือลดต้นทุนส่วนไหน ลดความเสี่ยงตรงไหน ตอนแรกๆพี่มาก็โปรเจ็คเยอะเลย ไม่ผ่านซักอัน แต่พอไปเรียนบริหารแล้วกลับมา ก็เริ่มรู้ว่าต้องเสนอยังไง คือเค้าต้องการตัวเลขและภาพรวม ใช้เงินกี่บาท คุ้มค่ายังไง คืนทุนกี่เปอร์เซ็น ถ้าไม่ทำเสียหายตรงไหน แต่ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว แล้วเค้าไม่ให้ผ่าน ซึ่งอาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่เราไม่รู้ ก็ไม่ต้องไปเถียง ห้ามใช้อารมณ์ ไม่ต้องทะเลาะ เค้าให้ทำไรก็ทำตามนั้น เพราะวันนึง เมื่อเราเข้ามาดูแลเต็มตัว คราวนี้จะสร้างอะไรปรับเปลี่ยนอะไร ก็ตามใจเราละ แต่นั่นหมายความว่าตอนนั้น เราต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของเราด้วยนะ”
“พี่เคยถอดใจมั้ยคะ”
“เคยสิ หลายรอบเลย มันก็มีจุดที่ว่า เออ เราทำอะไรอยู่ ทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไม ทำเพื่ออะไร คำชมก็ไม่ได้ เงินเดือนก็น้อยกว่าไปทำกับข้างนอก
จนไปปรับทุกข์กับเพื่อน เพื่อนก็เตือนว่า แก แกลืมหัวใจของการทำธุรกิจไปแล้วหรอ หัวใจของการทำธุรกิจ คือการทำให้ผู้ถือหุ้นพึงพอใจ เรียนมาแล้วนี่นา พี่ก็ว่าเออ จริง คุณพ่อ อาเจ็ก อาโกวเป็นผู้ถือหุ้นนะ เราแค่ต้องทำให้เค้าพอใจ ก็แค่นั้น ดีซะอีกที่เค้าเหล่านั้นเป็นคนในครอบครัวนะ ถ้าทำงานข้างนอก ต้องไปทำให้ใครก็ไม่รู้พึงพอใจ เถียงอะไรก็ไม่ได้ น่าจะรู้สึกแย่กว่านี้เยอะ แล้วอีกอย่าง วันนึงธุรกิจมันก็เป็นของเรา ต้องช่วยกัน ต้องอดทน
จากตอนนั้นมาก็เลยคิดว่า ได้ สบายมาก เราทำได้ เรื่องแค่นี้เอง เลี้ยงครอบครัวได้”
“สุดยอดมากๆเลยอ่ะพี่ #หญิงแกร่ง ตัวจริงเลย พี่ลงไปทำทุกอย่างเองจริงๆหรอคะ โรงเชือดด้วยเนียะนะคะ”
“ใช่ ทำเองเต็มๆมืออยู่ 5 ปีได้นะ ทำทุกอย่าง ตั้งแต่แรกเลย เป็นฝ่ายขายก็เป็นลูกน้องเค้าก่อน เพราะเราเริ่มงานไม่เหมือนคนอื่น อย่างบริษัทใหญ่ๆ ผู้จัดการผู้บริหาร ยังไงต้องใช้เวลาไต่เต้ามา ประสบการณ์ ความอะไรต่างๆเค้าเก่งกว่าเราเยอะอยู่แล้ว เรามาจากทางพิเศษ ถึงแม้ว่าจะเกิดตรงนี้ โตตรงนี้ แต่บางเรื่องถ้าไม่ลงมือทำเองก็ไม่รู้ถึงปัญหาจริงๆหรอกนะ อีกอย่าง ที่พี่บอกว่าเริ่มฝ่ายขายก่อนเพราะว่าเราจะรู้หมดเลย สินค้าตัวนี้ขายยังไง ลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรเด่น อะไรด้อย ข้อมูลวิชาการต่างๆต้องรู้เยอะๆ แล้วมันจะไล่กลับมาที่การผลิตได้ ว่าผลิตยังไงให้คุณภาพดี ผลิตยังไงให้ขายได้ อย่างพวกน้องๆที่เข้ามาหลังพี่ พี่ก็ให้ลงไปทำงานตั้งแต่เริ่มต้นเลย ต้องลงมือเองก่อน ถึงจะมีพื้นฐานแน่นจริงๆ เวลามีใครมาแย้งจะได้เถียงได้ อย่าๆ ไม่ต้องมาโกหก ชั้นทำมาหมดแล้ว ฮ่าๆ
ส่วนเรื่องโรงเชือดนี่ก็ทำใจนานเหมือนกัน ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่ทำ แต่ด้วยความจำเป็นก็ต้องทำ จนตอนนี้ทำใจได้ละ”
“ความเป็นผู้หญิง เป็นอุปสรรคมั้ยคะ” แหม ถ้าได้ใครได้เจอผู้หญิงเอวบางร่างเล็กแบบนี้ ใครจะคิดว่าสามารถกุมหัวใจของธุรกิจไว้ในมือได้
“เป็นสิ ใครๆเห็นก็คิด แต่ถ้าพวกต่างประเทศจะชอบติดต่อกับพี่มากกว่า เพราะเราเป็นคนตรงๆ คิดอะไรก็พูด เลยดูจริงใจมั้ง เป็นคนถูกจริตกับคนต่างชาติอยู่พอสมควร
แต่พี่ไปเรียนมาเยอะ อ่านมาเยอะนะ ต้องพูดสีหน้ายังไง น้ำเสียงยังไง ทำท่าทางยังไงถึงน่าเชื่อถือ ตอนแรกพี่มองว่ามันเป็นเรื่องงี่เง่าจุกจิกนะ แค่ทำแบบนี้ จะช่วยจริงหรอ แต่พิสูจน์ละ มันช่วยได้ด้วยล่ะ อีกเรื่องคือผู้หญิงมักใช้อารมณ์ทำงาน ซึ่งถือว่าไม่เป็นมืออาชีพ วิธีการทำให้พวกผู้ชายยอมรับก็คือ ไม่ใช้อารมณ์ทำงาน ทุกอย่างมีหลักการ มีเหตุผล แล้วก็รู้ให้เยอะเข้าไว้ ยิ่งเยอะยิ่งดี งานที่เราทำไม่ได้แต่ถ้าเรารู้ ทุกคนจะยอมรับเราเอง”
“ใช้เวลากี่ปีคะ กว่าจะสามารถดูน่าเชื่อถือขนาดนี้”
“โอ้ย พี่ว่า 3 ปีแรกพี่ก็เป็นสายดุแล้วนะ ฮ่าๆ”
“สำหรับลูกเจ้าของกิจการทั้งหลายพี่คิดว่าควรออกไปทำงานข้างนอกก่อนมั้ยคะ”
“สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าทำงานข้างนอกมันไม่มีความเมตตานะ ทำผิดเมื่อไหร่ก็คงโตในหน้าที่การงานยาก นอกจากให้ไปเห็นโลกภายนอก ศึกษาระบบคนอื่นแล้วเนียะ ให้ไปอยู่ใต้อำนาจคนอื่นดูก่อน แล้วจะได้รู้ว่าที่อยู่กับลุงกับป้า กับพ่อกับแม่เนียะ เค้าเมตตาเราที่สุดแล้ว”
“ขอย้อนกลับไปนิดนึงนะคะ ตอนแรก พี่โดนบังคับเข้ามาทำงานหรอคะ แล้วไม่คิดจะลาออกตอนถอดใจหรอคะ อะไรทำให้ตัดสินใจทำงานต่อ”
“ตอนแรกพ่อก็บังคับ ไม่ให้ไปทำงานที่อื่น พี่ก็เสียดายโอกาสนะ ยิ่งพอมาทำงานมีปัญหาด้วย ก็ยิ่งถอดใจหนักเลย แต่พอมาคิดๆดู ก็ไม่ได้มีใครมาบังคับเราได้นี่ เค้าไม่ได้มัดมือมัดเท้าเราไว้ซะหน่อย จะทำอะไรจะไปไหนก็ไปสิ ใช่ป่ะ ทุกคนแหละ ที่คุณยังยืนอยู่ตรงนี้มันต้องมีเหตุผลของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่อ้างพ่ออ้างแม่ก็เท่านั้น แต่คุณพร้อมรึยังล่ะ ที่จะละเหตุผลข้อนั้น ไม่ว่าจะกตัญญู ค่าตอบแทนน้อย ไม่มีคนทำ หรืออะไรก็ตามแต่ คุณสามารถเดินออกไป มีเงินพอกิน มีที่อยู่ เลี้ยงตัวเองได้มั้ย แล้วถ้าอนาคตแต่งงาน จะเลี้ยงครอบครัวได้มั้ย ทุกอย่างเราต่างรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ ก็ห้ามบ่น” อุ่ย รู้สึกเหมือนโดนดุ
“พี่มี passion มั้ยคะ ทำอะไรตามฝันตัวเองก็ได้นี่นา”
“พี่อยากเป็นนักธุรกิจ ฮ่าๆ ก็เลยคิดว่าที่นี่ก็เป็นนักธุรกิจอยู่แล้วนะ จะไปไหนทำไม ที่จริงก็เห็นพ่อเหนื่อย อยากช่วยพ่อ ก็เลยตัดสินใจลุยมันที่นี่แหละ ยังไงเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้แน่ แล้วปัญหาหลังจากนั้นก็ค่อยๆแก้ไป ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพราะมันเกิดจากการตัดสินใจของเราเอง เรายอมรับผลที่เกิดขึ้นจากมันได้ พอคิดแบบนี้แล้ว ก็ทำให้มีกำลังใจแก้ปัญหาอื่นๆต่อไป
passion อีกอันคืออยากเป็นครูนะ แล้วก็ชอบเรียน ชอบอ่านหนังสือด้วย แต่พอทำงานตรงนี้แล้วก็สามารถทำทุกอย่างไปด้วยกันได้ ไปเรียนปีละคอร์ส อ่านหนังสือตอนเย็น แล้วก็ไปสอนบ้างบางที”
“คิดว่าการทำธุรกิจครอบครัว ทำลายชีวิตส่วนตัวไปมั้ยคะ พี่ยังอยู่บ้านกับพ่อแม่รึเปล่า?”
“ก่อนแต่งงานก็ใช่นะ ถามว่าที่จริงฝันอยากมีคอนโด จะได้มีที่พักในเมืองกรุง หรือลองลงทุนอสังหาฯขั้นเริ่มต้น แต่พอมีจริงๆแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกอยากไปอยู่ขนาดนั้น เหมือนแค่อยากได้ พอได้แล้วก็จบ ประมาณนั้น ส่วนที่ว่าไม่ไปอยู่เอง ก็เพราะอยู่บ้านไม่ต้องเสียเงินไง ประหยัดกว่า ถ้าใครอยากไปอยู่ข้างนอกพ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับอะไรอยู่แล้ว แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเองนะ
ทำลายชีวิตส่วนตัวมั้ย ก็เราเลือกเองนี่ ย้อนกลับมาที่คำตอบแรก เราเลือกที่จะอยู่ที่นี่ ทำงานที่นี่เอง นี่คือผลของมัน คุณรับได้ คุณอยู่กับมันได้ ก็จบนะ พี่นี่ก็แต่งงานช้า คนมาจีบก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ เพราะมัวแต่สนใจเรื่องงาน แล้วก็ภาระเยอะ เราก็หาคนที่เข้าใจเรายาก จนคิดว่า ไม่แต่งก็ได้นะ ดูแลตัวเองได้ ครอบครัวดี เงินมีใช้ แต่จริงๆอยากมีลูกนะ พอมาเจอสามี เขาน่ารัก เข้าใจเรา สุดท้ายก็ได้มีครอบครัวที่อบอุ่นอย่างที่ตั้งใจไว้”
“สุดท้าย มีอะไรอยากแนะนำรุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามารับช่วงกิจการครอบครัวมั้ยคะ”
“หาเงินเข้าก่อนค่ะ พอมีเงินแล้วเสนอโปรเจ็คอะไรก็ผ่าน ฮ่าๆ”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่”
ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร